top of page
Ratchakorn Wetworanan

เล่นบอร์ดเกมการเรียนรู้...แล้วได้ประโยชน์อะไร?


ประเด็นนี้เป็นที่พูดถึงกันมากในวงการศึกษาที่กำลังนำบอร์ดเกมมาใช้เป็นสื่อการสอนสำหรับจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน

.

เล่นบอร์ดเกมการเรียนรู้แล้วได้ประโยชน์อะไร?

.

ผมอยากจะนำเสนอประโยชน์ของบอร์ดเกมการเรียนรู้ผ่านมุมมองของผู้ที่ชื่นชอบการเล่นและผู้พัฒนาออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้นะครับ...

.

เพื่อให้ง่ายต่อผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการการศึกษาอย่างเต็มตัว เช่น ผู้ปกครอง หรือผู้ที่สนใจทั่วไป ผมจะขอนำเสนอ "ประโยชน์ของการเล่นบอร์ดเกมการเรียนรู้" ด้วยภาษาที่ย่อยง่าย และจำแนกเป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้ครับ

.

1. ด้านความคิด (Thinking)

.

ด้วยรูปแบบของบอร์ดเกมที่พบเห็นในปัจจุบันจะเห็นได้ชัดว่ากลไกการเล่นเกมจะมีความซับซ้อนหลากหลายระดับ เช่น ระดับที่มีความซับซ้อนน้อย ตัวอย่างเช่นเกมอูโน่ (UNO) เกมเหมียวระเบิด (Exploding kittens) เป็นต้น ซึ่งสามารถทำความเข้าใจระบบการเล่นได้ไม่ยาก และใช้เวลาเล่นไม่นาน จึงเห็นเด็ก ๆ ชอบเล่นเพื่อฆ่าเวลา ถือได้ว่ามีอัตราการเล่นซ้ำที่มากพอสมควร

.

แต่ไม่ได้มีเพียงเกมที่มีระดับความซับซ้อนน้อยเท่านั้น แต่ยังมีเกมที่มีความซับซ้อนมากขึ้นไปตามลำดับ เช่น เกมเศรษฐี เกมคาทาน เกมคาร์คาซอน เกมค้าเพชร เป็นต้น เชื่อได้ว่าที่กล่าวมาข้างต้น จะคุ้นเคยกับเกมเศรษฐีกันเป็นส่วนใหญ่ เกมที่ผมกล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเกมอีกหลายพันหลายหมื่นเกม โดยเกมเหล่านี้จะมีความซับซ้อนมากกว่าเกมอูโน่หรือเหมียวระเบิด ทำให้ต้องใช้ความคิดในการแก้ไขปัญหา หรือเก็บสะสมคะแนนผ่านเงื่อนไขที่จำกัด ทำให้ผู้เล่นจะต้องเกิดการลำดับความคิด ลำดับความสำคัญ การปรับกลยุทธเพื่อพาให้ผู้เล่นชนะในเกมเหล่านี้ให้ได้

.

กระบวนการทางความคิดเหล่านี้ มักเกิดขึ้นจากสถานการณ์จริง มีการพัฒนาผ่านการแก้ปัญหาที่หลากหลายและมีความยากซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งบอร์ดเกมหลากเกมก็จำลองสถานการณ์ในส่วนนี้มาได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้เล่นเกิดกระบวนการคิดที่ลึกมากขึ้นและกว้างมากกว่าเก่า ผ่านมุมมองของการแก้ปัญหาที่หลากหลาย ถ้าเปรียบกับการละเล่นสมัยก่อนที่พัฒนาความคิดได้เป็นอย่างดีก็คงหนีไม่พ้นเกมกระดานอย่าง "หมากรุก" หรือ "โกะ" ที่ผู้เล่นไม่ได้มีเพียงความสนุก แต่ยังได้พัฒนาความคิดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นไม่น้อย

.

2. ด้านทักษะ (Skills)

.

โดยส่วนตัวชอบทักาะบางอย่างที่ผู้เล่นได้พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในเกม เช่น ทักษะการเจรจาต่อรอง อย่างที่รู้กันดีว่าการศึกษาไทย นักเรียนไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นเนื่องจากการกลัวที่จะพลาดผิด ไม่อยากที่จะเป็นเป้าสายตา หรือตัวตลกในชั้นเรียน แต่ต่างกันออกไปเมื่ออยู่ในสถานการณ์ของเกมที่ผู้เล่นจะต้องเจรจาต่อรองเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์สูงที่สุด (จำลองมาจากชีวิตจริงได้เป็นอย่างดี) ทังนี้ไม่เพียงแต่ทักษะการเจรจาต่อรองเท่านั้น แต่จากการที่ผมนำไปใช้ในห้องเรียนยังพบว่านักเรียนได้พัฒนาทักษะการเลือกใช้ข้อมูล ทักษะการให้เหตุผล เป็นต้น

.

ด้วยรูปแบบของเกมที่ท้าทายให้ผู้เล่นเกิดความอยากที่จะเรียนรู้ประกอบกับเงื่อนไขที่เร้าให้ผู้เล่นอยากที่จะเคลียร์ภารกิจเพื่อได้มาซึ่งคะแนนและชัยชนะในเกมจึงสามารถโน้มน้าวให้ผู้เล่นเข้าสู่กระบวนการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเกมได้เป็นอย่างดี

.

นักเรียนอาจเป็นเลิศในทักษะด้านวิชาการ (Hard skills) แต่ทักษะด้านสังคม (Soft skills) ก็สำคัญไม่แพ้กัน บอร์ดเกมสามารถใช้เป็นสถานการณ์จำลองในการพัฒนาทักษะทางสังคมได้เป้นอย่างดี โดยเฉพาะทักษะทางการสื่อสาร (Communication) ทักษะการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน (Complex problem solving) และทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และเลือกตัดสินใจ (Critical thinking and Decision-making) เป็นต้น

.

3. ด้านเจตคติ (Attitudes)

.

หลายท่านคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า "เด็ก ๆ คู่กับการเล่น" และคงเคยได้ยินว่า "เด็กติดเกมไม่เจริญหรอก"

.

สองประโยคที่กล่าวมาข้างต้น เกิดขึ้นจริงในสังคม ผมมองว่าการที่เด็กติดเกมไม่ได้ทำให้ทุกคนไม่เจริญหรอก มันมีปัจจัยหลายอย่างเป็นตัวกำหนด เด็กคนนั้นอาจจะติดเกมแต่ในอีกบทบาทเขาอาจเป็นเจ้าของบริษัทที่ประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่ง เด็กคนนั้นอาจเป็นคนที่สร้างนวัตกรรมที่เปลี่ยนชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้นได้ การกล่าวโทษเกมอย่างเดียวก็ดูจะด่วนสรุปเกินไป

.

จากที่เราสามารถเห็นได้ในปัจจุบัน เกมสามารถเร้าให้เด็กเข้าไปมีส่วนร่วมในเกมได้เป็นอย่างมาก เพียงแต่ว่าเกมที่อยู่ในตลาดเป็นเกมเชิงธุรกิจ สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความสนุกของผู้เล่นเพียงอย่างเดียว (แต่อีกหลายเกมก็พัฒนาทักษะการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ได้ดี แต่ติดตรงที่มันไม่ฮิต) แล้วถ้าเราสามารถนำเกมมาใช้ในการเรียนการสอนจะมีประโยชน์ต่อการสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนได้เป็นอย่างมาก ทำให้เด็ก ๆ อยากที่จะเรียนรู้ (มากกว่าการนั่งฟังคุณครูบรรยาย)

.

ผมมองว่าถ้าคุณครูรู้จักที่จะนำเกมมาใช้ในการเรียนรู้มากกว่าที่จะกล่าวโทษว่าเกมไม่ดี น่าจะทำให้เข้าถึงเด็ก ๆ ได้มากขึ้น จากที่ผมเคยนำไปใช้ในห้องเรียน เกมไม่ได้แค่เปลี่ยนเจตคติของผู้เรียน แต่มันเปลี่ยนเจตคติของครูที่มีต่อเด็ก ๆ อีกด้วย ในขณะที่เรียนผ่านการบรรยายนักเรียนบางคนอาจถูกมองว่าเรียนไม่เก่ง ไม่มีความใส่ใจ อ่อนในวิชานี้ แต่เมื่อนำเกมเข้ามาใช้กลับพบว่า เขาไม่ได้อ่อนหรือไม่เก่งเสียทีเดียว แต่เขาไม่ได้เปิดใจให้กับรูปแบบการสอนแบบบรรยาย เมื่อเขาพบรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะกับเขา เขาก็พร้อมที่จะเรียนรู้อย่างเต็มที่

.

จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประโยชน์ในการนำบอร์ดเกมไปใช้ในการเรียนรู้เท่านั้น หากคุณครูท่านใดมีข้อเสนอแนะหรืออยากจะแชร์ประสบการณ์ในการใช้เกมเพื่อการเรียนรู้สามารถคอมเมนท์หรือทักเข้ามาในเพจได้เลยนะครับ

.

มาสร้างสังคมการเรียนรู้ผ่านบอร์ดเกมกัน!

.

.

ดู 6,268 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page